ทะลุมิติไปเป็นแม่ของวายร้ายทั้งสาม [穿书后,我成了三个反派的娘]บทที่ 117 ท่านลุงใหญ่สอนมาดี

Now you are reading ทะลุมิติไปเป็นแม่ของวายร้ายทั้งสาม [穿书后,我成了三个反派的娘] Chapter บทที่ 117 ท่านลุงใหญ่สอนมาดี at นิยาย นิยายออนไลน์ นิยายวาย นิยาย pdf OreNovel.Com.

เมื่อเห็นความไม่สบายใจของเขา เหยาซูจึงคลี่ยิ้มอย่างใจดี ไม่บังคับชายหนุ่มอีก เพียงพูดว่า “ได้สิ แต่ต้องรออีกประเดี๋ยวนะ เอากับข้าวกลับไปสักสองอย่างด้วย”

เมื่อเห็นอวี๋จือยังคิดจะปฏิเสธ เหยาซูจึงรีบถามว่า “เมื่อครู่ได้ยินพวกเจ้าพูดเรื่องไปศึกษาหาความรู้ จะศึกษาอะไรกันหรือ?”

ความสนใจของเด็กหนุ่มถูกดึงดูดไปทางอื่นอย่างที่คิดไว้และพูดกับเหยาซูเกี่ยวกับอาจื้อว่า “เมื่อครู่ข้าถามระดับความรู้ของต้าเป่า เห็นเขามีความคิดปราดเปรื่อง อายุก็ยังน้อยแต่เฉลียวฉลาดนัก เหมาะแก่การศึกษาเล่าเรียนต่อ จึงอยากจะแนะนำเขาให้ไปศึกษาในสำนักศึกษาจิ้งหยางในเมืองซูโจวของเรา… แม่นางเหยาจะคิดว่าอย่างไร?”

เหยาซูกลับส่ายหน้าก่อนเอ่ยด้วยรอยยิ้มว่า “เจ้าต้องถามต้าเป่าแล้วล่ะ ดูว่าเขาจะยอมหรือไม่”

คนทั่วไปหากเป็นเรื่องเกี่ยวกับลูก มักขึ้นอยู่กับพ่อแม่ในครอบครัวเป็นหลัก แม้แต่เรื่องใหญ่อย่างการแต่งงานก็ถึงกับเป็นชีวิตของพ่อแม่เลยทีเดียว ยิ่งไม่ต้องเอ่ยถึงการออกไปศึกษาหาความรู้แดนไกล

เมื่อเห็นเหยาซูมีทัศนะคติเช่นนี้ อวี๋จือจึงอดตะลึงไม่ได้

นางอธิบายว่า “อาจื้อไม่ใช่เด็กแล้ว ข้าเชื่อว่าเขาเองก็มีการตัดสินใจของตัวเอง หากความคิดยังไม่โตพอ ก็ยังมีข้าและพ่อของเขา ส่วนจะยอมไปศึกษาหาความรู้ข้างนอกหรือไม่นั้นก็แล้วแต่ความสนใจของเขา”

อาจื้อเคยชินกับทัศนคติที่เชื่อมั่นเช่นนี้ของเหยาซูแล้ว ทุกครั้งที่เจอะเจอเรื่องราว มารดาจะให้เขาตัดสินใจเองเสมอ

เด็กชายตัวน้อยไม่เคยลบล้างความเชื่อมั่นของเหยาซูเลยสักครั้ง เขาครุ่นคิดครู่หนึ่งจากนั้นก็ถามอวี๋จือว่า “สำนักศึกษาจิ้งหยางที่ท่านอาอวี๋พูดถึง เป็นอย่างไรหรือขอรับ?”

อวี๋จือไม่เคยเห็นเหยาซูและเด็ก ๆ เข้ากันได้เป็นปี่เป็นขลุ่ยเช่นนี้มาก่อน เมื่อนึกย้อนถึงตนเอง ตั้งแต่เด็กจนโตไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทั้งสี่ เสื้อผ้า อาหาร ที่อยู่อาศัยและการเดินทาง ตลอดจนการศึกษาและการสู่ขอ ล้วนเป็นพ่อและแม่ที่ตัดสินใจแทนเขา ตัวเองไม่เคยต้องคิด ไม่เคยต้องออกความเห็นในการเลือกสักครั้ง

เมื่อเขาเห็นอาจื้อถามขึ้นอย่างจริงจังจึงรีบจัดการสีหน้าและตอบกลับว่า “สำนักศึกษาจิ้งหยางเป็นสำนักศึกษาที่มีชื่อเสียงที่สุดในเมืองซูโจว แม้ว่าจะเหมือนกับสำนักศึกษาของที่อื่น ที่เน้นประวัติศาสตร์เป็นหลัก แต่กลับไม่มุ่งเน้นในการสอบขุนนาง ทั้งยังเปิดหลักสูตรจำพวกการคำนวณ ภูมิศาสตร์ การอักษร การศึกษาตัวอักษรโบราณ เป็นต้น ดำเนินการตามหลักคำสอนที่ว่า ‘สอนตามความสามารถของผู้เรียน’ ของจอมปราชญ์ขงจื้อ เน้นความโดดเด่นของผู้เรียน”

“นอกจากหนังสือที่แบ่งประเภทตามวัฒนธรรมแล้ว หากอาจื้อชอบอ่านหนังสือประเภทอื่น สำนักศึกษาจิ้งหยางเหมาะสมกับเขาที่สุด สำนักของเราไม่เพียงแต่มีหนังสือที่เก็บสะสมไว้ แต่ยังมีหอเล็กที่รวมพวกดาราศาสตร์และภูมิศาสตร์ไว้มากมายอีกด้วย”

เมื่อกล่าวถึงตรงนี้ เขาก็หยุดชะงักไปครู่หนึ่ง จากนั้นก็ยิ้มและพูดกับเหยาซูว่า “ข้าไม่ขอปิดบังแม่นางเหยาก็แล้วกัน ท่านปู่ของข้าเป็นอาจารย์ใหญ่คนปัจจุบันของสำนักศึกษาจิ้งหยาง หากอาจื้อไปศึกษาหาความรู้ในซูโจว ท่านปู่จะต้องปลื้มใจที่ข้าหาลูกศิษย์ที่เฉลียวฉลาดเช่นนี้มาให้เขาเป็นแน่”

อวี๋จือไม่ได้ชี้แจงอย่างชัดเจน แต่ความหมายของเขากลับทำให้อาจื้ออยากไปแสดงความเคารพต่อปู่ของเขา กลายเป็นบัณฑิตของอาจารย์ใหญ่แห่งสำนักศึกษาจิ้งหยาง

เหยาซูรู้ว่าอวี๋จือทำเช่นนี้เพียงเพราะต้องการตอบแทนความช่วยเหลือของนางและหลินเหรา จึงพูดกับเขาด้วยรอยยิ้มว่า “ความปรารถนาของเจ้า เราน้อมรับด้วยใจ แต่เจ้าไม่ต้องทำเช่นนี้ก็ได้”

อวี๋จือกลับส่ายหน้า “แม่นางเหยาพูดผิดแล้ว แม้ว่าท่านปู่จะดูแลเอาใจใส่ข้ามาก แต่กลับไม่เคยรับลูกศิษย์เพื่อน้ำใจเลยสักคนเดียว อาจื้อเป็นต้นกล้าที่ดี ข้าจึงคิดจะแนะนำเขาให้ท่านปู่ได้รู้จักและอยากให้เขารับลูกศิษย์ตัวน้อยที่มีความกตัญญูรู้คุณต่ออาวุโสสักคน”

เหยาซูรู้ว่าอาจื้อเป็นเด็กเฉลียวฉลาด จึงไม่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับคำพูดของอวี๋จือ

หญิงสาวถามเด็กชายอย่างอ่อนโยนว่า “ต้าเป่า เจ้าอยากไปศึกษาหรือไม่?”

อาจื้อเกิดความลังเลเล็กน้อยกระทั่งเอ่ยเรื่องอื่น “หลังจากปีใหม่ท่านลุงใหญ่จะสอนเกี่ยวกับหนังสือทั้งสี่ และ ‘คัมภีร์มหาบุรุษ’ ที่เหลือให้ข้า เพียงแต่ท่านลุงใหญ่ยุ่งมากแล้วตอนนี้เราก็ย้ายมาอยู่ในเมืองอีก ตอนนี้จึงทำได้แค่ต้องอ่าน ‘คัมภีร์มหาบุรุษ’ ด้วยตนเองขอรับ”

สำหรับความคิดของลูกชาย เหยาซูเข้าใจชัดเจนดี

อาจื้อชอบอ่านหนังสือ ไม่ใช่เพราะใครบังคับ แต่ตัวเองสามารถนั่งอยู่หน้าโต๊ะหนังสือและอ่านอยู่เช่นนั้นได้ทั้งวี่ทั้งวัน

แต่หนังสือที่ตกทอดมาจากวัฒนธรรมในบ้านมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นสิ่งที่หลงเหลือไว้ให้จากผู้อาวุโสของตระกูลเหยา ความสนใจของอาจื้อจึงมีค่อนข้างจำกัด

เมื่อเขาได้ยินคำพูดของอวี๋จือ บางทีอาจจะตื่นเต้นกับสำนักศึกษาจิ้งหยางไปแล้วก็ได้

เหยาซูยิ้มและถามอีกว่า “งั้นเจ้าจะยอมร่ำเรียนศึกษากับอาจารย์ในสถานศึกษาของเมืองนี้ หรือว่าจะไปหาความรู้ในเมืองซูโจว ตามศิษย์พี่ศึกษาหาความรู้ในสำนักศึกษาล่ะ?”

อาจื้อเงยหน้าขึ้น หัวคิ้วขมวดเข้าหากันแน่นพลางถามเหยาซูว่า “ท่านแม่ ซูโจวไกลหรือไม่ขอรับ?”

“อื้อ ไกลมาก” เหยาซูพูดตามความจริง “ความเร็วในการเดินทางปกติ จากซูโจวมาถึงเมืองชิงถงต้องใช้เวลาเดือนกว่า นั่งรถม้าก็ยิ่งช้า”

เด็กผู้ชายตัวน้อยเบิกตากว้างในทันที จากนั้นก็มองไปทางน้องชายที่ยังเล็กและน้องสาวที่ร่าเริงอยู่ข้างกายแวบหนึ่ง เกิดความลังเลอย่างชัดเจน

หากเขาไปมารดาของตนก็ต้องดูแลเอ้อเป่าและซานเป่าเพียงลำพัง

เมื่อเหยาซูเห็นเขาเป็นกังวล จึงปลอบใจเขาอย่างอ่อนโยน “ไม่ต้องคิดมากเพียงนั้นหรอก หากเจ้าอยากไปซูโจว กลับไปให้ท่านพ่อสอนขี่ม้าให้เจ้า เด็กผู้ชายทุกคนต้องมีม้าหนึ่งตัว เสื้อผ้า ทั้งยังต้องเตรียมอาหารแห้งและเงินติดตัวไปใช้ระหว่างทางด้วย หากเจ้าไม่อยากไปไกลเพียงนั้น พ่อและแม่ก็จะหาสถานศึกษาที่ดีที่สุดในเมืองให้เจ้า ไม่ก็เชิญอาจารย์ท่านหนึ่งมาสอนหนังสือให้เจ้า”

เมื่อได้ยินคำพูดของเหยาซู ในใจของอาจื้อจึงไม่ต้องแบกรับมากเพียงนั้นแล้ว จากนั้นก็พูดกับอวี๋ว่า “ท่านอาอวี๋ ตอนนี้ข้ายังคิดไม่ได้ ขอให้คำตอบท่านช้าสักหน่อยได้หรือไม่ขอรับ?”

อวี๋จือยิ่งชื่นชมวิธีการที่หยาซูสอนเด็ก ๆ และการแสดงออกอย่างอิสระของอาจื้อ เขาพยักหน้า “ได้แน่นอน ไว้เจ้าคิดได้แล้ว ข้าค่อยส่งจดหมายไปให้ที่บ้าน…”

ในขณะที่พูดเขาก็อดชื่นชมไม่ได้ “อาจื้อยังเด็ก แต่กลับมีความสามารถในการคิดและตัดสินใจเช่นนี้ ในภายภาคหน้าคงไร้ขีดจำกัดแล้วล่ะ”

คำชมนี้มาจากใจจริง เหยาซูยิ้มโดยไม่เอ่ยสิ่งใด

อาจื้อกลับตกอยู่ในอาการสับสน

เมื่อครู่ตอนที่ท่านอาอวี๋เห็นเชือกในมือของเอ้อเป่า ต่างก็ชื่นชมไม่เหมือนกันสักครั้งเป็นครึ่งวัน… เขาคุ้มค่ากับคำชมแบบนี้งั้นหรือ?

เมื่อถึงช่วงเที่ยงวัน เหยาซูได้เตรียมอาหารสองอย่างให้อวี๋จือ หลังจากที่มอบกล่องอาหารให้เขาไปแล้ว ทั้งบ้านจึงเริ่มกินอาหาร

ระหว่างมื้ออาหาร อาซือยังถามขึ้นว่า “ท่านพี่ สำนักศึกษาคืออะไร?”

อาจื้อไม่เคยเห็นสำนักศึกษาของจริงมาก่อน ทว่าเคยเห็นในบทละครพื้นเมือง ตำราอ่านเล่น ซึ่งไม่ได้ดูสูญเปล่า “สำนักศึกษาและสถานศึกษาไม่ต่างกันนัก ล้วนเป็นสถานที่ที่ทุกคนใช้ศึกษาหาความรู้ด้วยกัน …ไม่เหมือนกันสิ สำนักศึกษาจะต้องกินต้องนอนกับเพื่อนร่วมชั้น ส่วนสถานศึกษาเป็นสถานที่ที่ใช้ศึกษาเท่านั้น”

ไม่นานอาซือน้อยก็จับใจความสำคัญได้ “งั้นหากท่านพี่ไปศึกษาในสำนักศึกษา จะกลับบ้านไม่ได้ใช่หรือไม่?”

เด็กชายพยักหน้า

ในตอนนั้นเอง ซานเป่าก็ตื่นขึ้นมาร้องโวยวายทันใด เมื่อเห็นผู้อื่นกำลังกินข้าว ตัวเองก็งอแงอยากจะนั่งที่โต๊ะด้วย

เหยาซูจึงกล่อมลูกชายตัวน้อยด้วยการป้อนอาหารเสริมให้เขาไปพลาง และถามอาซือไปพลางว่า “หากพี่ชายเจ้าไปศึกษาหาความรู้ข้างนอก กลับบ้านปีละครั้ง เอ้อเป่าจะคิดถึงพี่ชายหรือไม่?”

เด็กสาวตัวน้อยไม่พูดสิ่งใด แม้แต่ตะเกียบก็ไม่แตะต้อง

เมื่ออาจื้อเห็นน้องสาวไม่พอใจ จึงเอ่ยปลอบใจ “เอาล่ะ เอาล่ะ พี่ไม่ได้บอกสักหน่อยว่าจะไป รีบกินข้าวเถอะ”

บางทีอาจจะเป็นเพราะเติบโตมาด้วยกันตั้งแต่เด็ก มีหลายครั้งที่อาจื้อเองก็ไม่เข้าใจความคิดของตัวเอง อาซือกลับสังเกตเห็นตลอด

เด็กหญิงตัวน้อยก้มหน้าลง พูดเสียงอู้อี้ว่า “ถึงท่านพี่ไม่พูดว่าจะไม่ไป แต่ในใจก็ยังอยากไป”

เหยาซูได้ยินดังนั้นก็พลันเงยหน้า และมองไปยังเด็กทั้งสองคน

อาจื้อคีบผักให้อาซือหนึ่งคำ และพูดกับน้องสาวเสียงต่ำว่า “เอ้อเป่าก็มีเรื่องที่ตัวเองอยากทำใช่หรือไม่?”

เด็กสาวตัวน้อยพยักหน้า

อาจื้อพูดต่อว่า “เรื่องที่ข้าชอบทำคืออ่านหนังสือเป็นพันเล่ม เดินทางเป็นหมื่นลี้ เมืองซูโจวเฟื่องฟูไปด้วยสินค้า ทั้งยังเป็นสถานที่ที่รวบรวมหลักคำสอนไว้มากมาย หากข้าอยากไป เอ้อเป่าจะสนับสนุนข้าหรือไม่?”

อาซือลังเลเล็กน้อย “แต่ท่านพี่จะกลับบ้านไม่ได้…”

อาจื้อยิ้มและพูดว่า “คนที่เดินทางเป็นหมื่นลี้ ถ้าต้องเดินทางกลับบ้านตลอดเวลา ก็จะไม่หลุดพ้นจากวงกลมเล็ก ๆ ไปตลอดชีวิตนะสิ แล้วจะเดินทางเป็นหมื่นลี้ได้อย่างไร?”

นัยน์ตาของอาซืองุนงง ราวกับไม่เข้าใจความหมายในคำพูดของพี่ชายทั้งหมด แต่เหยาซูกลับเข้าใจ

นางโน้มตัวไปเช็ดปากให้ซานเป่า ปกปิดความแดงก่ำของดวงตาไว้

คำพูดของอาจื้อนั้นสร้างความปั่นป่วนในใจของเหยาซูอย่างมาก

ไม่มีช่วงเวลาไหนทำให้นางเข้าใจอย่างชัดเจนเท่าช่วงเวลานี้ ที่แท้อาจื้อที่ยังเป็นเด็กในสายตาของนางก็โตเป็นหนุ่มแล้ว

เขารู้ว่าตัวเองชอบอะไร แสวงหาอะไร

ส่วนโชคชะตาของนางกับเขา เป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่ถึงหนึ่งปีเท่านั้น

เมื่อจิตใจของเหยาซูสงบลง นางก็วางซานเป่าลงจากนั้นก็หมุนตัว เดินมาตรงหน้าโต๊ะ

หญิงสาวใช้น้ำเสียงที่อ่อนโยนเหมือนอย่างเคย ทั้งยังแฝงไปด้วยความภูมิใจ “ต้าเป่าโตแล้ว มีเรื่องที่ตัวเองชอบทำ แม่ปลื้มใจที่สุด”

ใบหน้าที่ดูอ่อนวัยของอาจื้อได้แสดงสีหน้ามุ่งมั่นไม่เหมือนดั่งที่เหยาซูจินตนาการไว้ ตรงกันข้ามกลับยิ้มและพูดกับนางว่า “ท่านแม่ ข้าอยากไปสำนักศึกษาจิ้งหยาง แต่ไม่ใช่ตอนนี้ขอรับ”

“อือ? ต้าเป่าคิดเห็นยังไงล่ะ บอกแม่สิ?”

อาจื้อครุ่นคิดพลางพูดว่า “ตอนนี้ข้าอายุยังน้อย จะจากบ้านก็ไม่สะดวก หากไปศึกษาในสำนักศึกษาจำเป็นต้องให้ท่านพ่อกับท่านแม่ไปส่ง แล้วจะเป็นการออกไปศึกษาได้อย่างไรล่ะ? ตอนนี้ข้าขอศึกษาหนังสือทั้งสี่และคัมภีร์ทั้งห้าของสถานศึกษาที่นี่ให้จบก่อน รออีกสักสองสามปีค่อยไป ก็ยังไม่สาย”

เหยาซูพยักหน้าชื่นชม

ก่อนหน้านั้นที่นางเคยได้ยินอวี๋พูดถึงสำนักศึกษาจิ้งหยาง หญิงสาวก็คิดแบบนี้เช่นกัน

สำนักศึกษาเป็นสถานที่ที่ดี หากอาจื้ออยากไป ก็ต้องรอให้ถึงวัยของเขาก่อน

เหยาซูลูบไปบนศีรษะของอาจื้ออย่างเบามือก่อนยิ้มและพูดว่า “พ่อเจ้าพูดถูก ตอนนี้แม่คงมองเจ้าเป็นแค่เด็กไม่ได้อีกแล้ว ครึ่งปีมานี้ต้าเป่าโตขึ้นมาก”

เมื่อนึกถึงตอนที่เจอกับอาจื้อในคราวนั้น เขาทั้งผอมทั้งตัวเล็ก แม้แต่สายตาที่มองมาก็ยังแฝงไปด้วยความหวาดกลัว

บัดนี้แม้ว่าจะยังเป็นเด็กที่ขี้อายบ้าง แต่กลับเติบโตขึ้นมาก

เมื่อได้ยินมารดาชื่นชมเขา อาจื้อก็คลี่ยิ้มอย่างเขินอาย “ท่านลุงใหญ่สอนมาดีขอรับ”

หากเหยาเฟิงอยู่ที่นี้ด้วย จะต้องส่ายหน้าอย่างไม่ลังเลเป็นแน่

เขาเป็นอาจารย์ที่เผยแพร่ความรู้ให้พวกเขา และพาอาจื้อไปศึกษาหนังสือทั้งสี่ แต่หากว่ากันถึงแก่นแท้แล้วเวลาที่เรียนในทุกวันนั้นมีจำกัด เวลามากหน่อยเขาก็สอนอาจื้อให้รู้จักอักษรได้มากขึ้น

………………………………………………………………………………………………………………

สารจากผู้แปล

อาจื้อโตเป็นผู้ใหญ่ใฝ่ดีแล้ว เห็นแล้วก็รู้สึกเจ็บแผลคลอดทิพย์จังเลยค่ะ

ไหหม่า(海馬)

Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *